มนุษย์กับการเดินทางสู่ความเป็น Civilization
ก่อนที่สังคมมนุษย์จะมีวิวัฒนาการและอยู่รวมกันเป็นชุมชนจนเกิดเป็นอารยธรรมขนาดใหญ่นั้น มนุษย์เร่รอนอาศัยอยู่บนที่สูง ก่อนย้ายจากที่สูงลงมาสร้างถิ่นฐานใกล้ ๆ บริเวณแม่น้ำสร้างเป็นชุมชนขนาดเล็กจนขยายไปเป็นขนาดใหญ่และกลายเป็นอารยธรรม
กล่าวไปถึงสภาพสังคมของมนุษย์ในยุคแรกเริ่มนั้น เป็นกลุ่มคนที่เร่รอน ล่าสัตว์และหาของป่าไม่มีหลักแหล่งที่ชัดเจนถึงแม้จะยังไม่อยู่กันเป็นชุมชนแต่ก็มีการอาศัยอยู่กันเป็นครอบครัวแล้วแต่ก็ยังไม่มีการรวมกลุ่มที่ชัดเจนด้วยลักษณะของการดำรงชีวิตที่ต้องล่าสัตว์ทำให้ต้องเร่ร่อนไปเรื่อย ๆ ระบบสังคมไม่มีความซับซ้อนมากเรียกได้ว่าเป็นอารยธรรมที่ยังไม่มีความเจริญแต่ถึงกระนั้นสังคมมนุษย์ในยุคนี้ก็ยังรู้จักการนำหินมาทำเป็นอาวุธเพื่อล่าสัตว์และนำสัตว์ไปทำเครื่องนุ่งห่ม ดังนั้นสภาพสังคมในยุคนี้จึงเรียกว่าเป็นยุคหินเก่า (Old Stone Age)
ต่อมาเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการอยู่เป็นหลักแหล่งส่งผลให้เกิดเป็นชุมชนขึ้น ในยุคนี้เรียกว่า ยุคหินใหม่ (New Stone Age) สภาพสังคมของมนุษย์ในยุคนี้มีลักษณะที่สำคัญ คือ มนุษย์รู้จักการทำเกษตรเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเร่ร่อนหาของป่าหันมาเลี้ยงสัตว์และทำการเพาะปลูกแทน ยุคนี้ถือเป็นยุคที่สำคัญเพราะถือว่าเป็นก้าวแรกของการปฏิวัติสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเกษตรที่เข้ามาเปลี่ยนสภาพสังคมจากหมู่บ้านให้กลายเป็นชุมชนเมือง กล่าวคือ มนุษย์ในยุคนี้รู้จักการวางระบบทำการเกษตร คือ มีการวางระบบชลประทานให้เชื่อมโยงกับพื้นที่เกษตรกรรมเข้ากับแหล่งน้ำทำให้การทำการเกษตรทำได้ง่ายขึ้นส่งผลให้ไม่จำเป็นต้องเกณฑ์แรงงานจำนวนมากเพื่อเข้ามาทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว มนุษย์สามารถไปทำหน้าที่อื่นได้นอกจากการทำการเกษตรจึงทำให้มีอาชีพอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นและนอกจากนั้นยังทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณที่มากขึ้นจนสามารถนำผลผลิตเหล่านี้สามารถส่งออก ทำการค้าขายได้ เกิดการติดต่อกับชุมชนอื่น ๆ ผ่านการค้า
จากที่กล่าวมานำซึ่งความเป็นอารยธรรม โดยลักษณะของการเป็นอารยธรรมนั้น สังคมมนุษย์มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีการจัดระเบียบของสังคม โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ ระบบการปกครองที่มีชนชั้นและมีความซับซ้อนมาก เช่น ในอารยธรรมหนึ่งนั้นจะมีระบบการปกครองที่แบ่งบทบาทและชนชั้นที่ชัดเจน โดยจะมีชนชั้นสูงการปกครอง อันได้แก่ จักรพรรดิ กษัตริย์ ขุนนาง รองลงมาก็จะเป็นชนชั้นกลาง ได้แก่ พ่อค้า วิศวกร นักปราชญ์หรือผู้มีความรู้ทั้งหลายจะจัดอยู่ในชนชั้นกลาง รองมาคือชนชั้นล่าง อันได้แก่ ชาวนา เกษตรกรต่าง ๆ และสุดท้ายชนชั้นต่ำ ได้แก่ ทาส เชลย นอกจากการปกครองแล้วในอารยธรรมหนึ่งจะมีตัวอักษรเอาไว้บันทึกเรื่องราวของอารยธรรมรวมไปถึงการมีศิลปะ สถาปัตยกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นอารยธรรมของตนเองอีกด้วย มีการวางผังเมือง มีขอบเขตที่ชัดเจนเห็นได้ชัดว่าความเป็นอารยธรรมทุกอย่างต้องมีความชัดเจนและซับซ้อนมากขึ้นเพราะว่ามนุษย์มีสังคมที่ใหญ่ขึ้น หลากหลายขึ้น การจัดระเบียบของสังคมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
เมื่อมีการเกิดขึ้นและดำรงอยู่การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อารยธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงได้ มีรุ่งเรืองย่อมมีล่มสลายโดยมีปัจจัยของการล่มสลายได้อยู่หลายประการด้วยกัน คือ
1. สิ่งแวดล้อม การขาดแคลนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมนำมาซึ่งการทำสงครามเพื่อการแย่งชิงทรัพยากรได้
2. การขยายตัวของประชากรและความคิด การขยายตัวของประชากรและการเคลื่อนย้ายประชากรของอารยธรรมอื่น ๆ เข้ามาหรือเข้าไปนั้นทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน วัฒนธรรมที่เข้มแข็งอาจกลืนวัฒนธรรมที่อ่อนแอ่ได้
3. การขยายตัวของประชากรและสงคราม เมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นสิ่งที่ตามมาคือความต้องการในด้านพื้นที่และทรัพยากรทำให้เกิดการขยายอารยธรรมอันนำมาซึ่งการทำสงครามเพื่อแย่งชิง
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่า การเกิดขึ้นของอารยธรรมนั้นมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลง คือ มนุษย์รู้จักการวางระบบชลประทาน อันเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจที่ทำให้มนุษย์เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีไม่ว่าจะยุคไหน ๆ ก็มักจะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาและเปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์อยู่เสมอ ดังนั้น การเรียนรู้และเท่าทันเทคโนโลยีจะสามารถทำให้รู้เรื่องราวได้กว้างมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น